มาตรฐานโรงฆ่าสัตว์

๑. สถานที่ตั้ง

           ๑.๑ สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ควรตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม และมีบริเวณ เพียงพอที่จะประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ไม่อยู่ใกล้วัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียน หรือสถานที่ศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยค้างคืน หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพักและสถานที่ราชการ ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
           ๑.๒ ที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์เป็นที่ไม่มีน้ำท่วมถึง ชนิดของดินควรมีความคงตัวไม่ทรุด แยกตัวหรือหดตัว ซึ่งก่อให้เกิดการแตกร้าวหรือทรุดตัวของอาคารโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์
           ๑.๓ ในการเลือกบริเวณหรือพื้นที่ในการตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ ควรจะเตรียมพื้นที่ว่างให้ เพียงพอสำหรับบริเวณที่พักสัตว์ ถนน บริเวณที่จอดรถ อาคารสำนักงาน บ่อบำบัดน้ำเสีย และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น
           ๑.๔ ถนนโดยรอบอาคารโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ ควรดูแลปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีฝุ่นละออง มีการแยกทางเข้า - ออกของสัตว์มีชีวิตและซากสัตว์หรือเนื้อสัตว์ และมีระบบการระบายน้ำที่ดี
           ๑.๕ สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ ควรมีการคมนาคมที่สะดวกและมีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอ
           ๑.๖ โรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ ควรมีรั้วเพื่อป้องกันบุคคลภายนอกผ่านเข้าออก และป้องกันมิให้สัตว์ต่างๆ เข้าไปภายในโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ เช่น สุนัข แมว และหนู เป็นต้น

๒.โรงพักสัตว์
โรงฆ่าสัตว์ต้องจัดให้มีโรงพักสัตว์ ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
           ๒.๑ โรงพักสัตว์ควรมีพื้นที่อย่างเพียงพอสำหรับจำนวนสัตว์ที่จะเข้าฆ่าในแต่ละวัน และสะดวกต่อการตรวจสัตว์ก่อนฆ่าของพนักงานตรวจโรคสัตว์ และพนักงานเจ้าหน้าที่
           ๒.๒ โครงสร้างของโรงพักสัตว์จะต้องทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน มีหลังคาในการป้องกัน แสงแดด และฝนสำหรับสัตว์ทุกตัว
           ๒.๓ โรงพักสัตว์ควรมีทางเดิน ซึ่งมีหลังคาคลุมตลอดไปจนถึงอาคารโรงฆ่าสัตว์ มีระบบป้องกัน การเดินของสัตว์ย้อนมายังโรงพักสัตว์ได้ และทางเดินควรมีผนังหรือขอบกั้นตลอดแนวที่ไปยังอาคารโรงฆ่าสัตว์
           ๒.๔ ประตูรั้วกั้นหรือแผงกั้นควรทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน สามารถปิดล็อค หรือป้องกันสัตว์มิให้ออกจากโรงพักสัตว์ได้
           ๒.๕ บริเวณรับสัตว์ควรเป็นพื้นที่ไม่ลื่น หรือลาดชันจนเกินไปและให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ ลงจากรถบรรทุกสัตว์
           ๒.๖ ในกรณีที่มีสัตว์ป่วย หรือสงสัยว่าป่วย ควรมีโรงพักสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยแยกออกจากสัตว์ที่มีสุขภาพปกติ
           ๒.๗ สถานที่ตั้งโรงพักสัตว์ต้องอยู่ห่างจากบริเวณที่สะอาดของอาคารโรงฆ่าสัตว์ เพื่อป้องกันฝุ่น หรือกลิ่นจากโรงพักสัตว์ที่สามารถปนเปื้อนไปยังเนื้อสัตว์ได้
           ๒.๘ โรงพักสัตว์ควรมีน้ำที่สะอาด หรืออุปกรณ์ให้น้ำสัตว์อย่างเพียงพอ
           ๒.๙ โรงพักสัตว์ควรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และมีแรงดันน้ำเพียงพอในการทำความสะอาด
           ๒.๑๐ โรงพักสัตว์ควรมีอ่างล้างเท้าใส่น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับการล้างรองเท้าก่อนเข้าและออกจากโรงพักสัตว์
           ๒.๑๑ ระบบระบายน้ำในโรงพักสัตว์ควรแยกระหว่างท่อระบายน้ำฝน และท่อระบายน้ำบริเวณพื้นโรงพักสัตว์ เพื่อป้องกันการระบายน้ำไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมขังบริเวณโรงพักสัตว์
           ๒.๑๒ ทิศทางการระบายน้ำในโรงพักสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย ควรแยกและไม่ไหลผ่านไปยังโรงพักสัตว์ หรือทางเดินของสัตว์
           ๒.๑๓ โรงพักสัตว์ควรมีระบบระบายอากาศที่ดี
           ๒.๑๔ ความเข้มแสงในคอกพักสัตว์ควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอในการตรวจสัตว์ก่อนฆ่า

๓. โครงสร้างอาคารโรงฆ่าสัตว์
๓.๑ อาคารโรงฆ่าสัตว์
อาคารโรงฆ่าสัตว์ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
           ๓.๑.๑ ตัวอาคารโรงฆ่าสัตว์ควรมีความมั่นคง แข็งแรง มีการออกแบบให้ทำความสะอาดได้ง่ายพื้นผิวภายนอกอาคารควรทำจากวัสดุที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ
           ๓.๑.๒ อาคารโรงฆ่าสัตว์ควรมีพื้นที่การทำงานอย่างเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงาน
           ๓.๑.๓ อาคารโรงฆ่าสัตว์ต้องกั้นแยกระหว่างบริเวณที่สะอาด ออกจากบริเวณที่สกปรกโดยสมบูรณ์
           ๓.๑.๔ การออกแบบและการวางผังของสถานที่ผลิตและเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรจัดวางตามลำดับกระบวนการผลิตและเอื้ออำนวยต่อการผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ
           ๓.๑.๕ การออกแบบตัวอาคารโรงฆ่าสัตว์ ควรคำนึงถึงการป้องกันการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ เช่น สุนัข แมว นก หนู และแมลงต่าง ๆ และการป้องกันการปนเปื้อนต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อม รวมถึงฝุ่นละออง
           ๓.๑.๖ หลังคาโรงฆ่าสัตว์ต้องมั่นคง แข็งแรงและเป็นชนิดกันน้ำได้

๓.๒ โครงสร้างภายในโรงฆ่าสัตว์
           ๓.๒.๑ พื้น
                   ๓.๒.๑.๑ วัสดุที่ใช้ทำพื้นต้องมีพื้นผิวเรียบ ทำจากวัสดุที่กันน้ำได้ มีความแข็งแรงทนทานต่อการกระทบกระแทกและการสึกกร่อน สามารถล้างทำ
ความสะอาดง่ายและทนทานต่อสารเคมี เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ และ น้ำยาทำความสะอาด
                   ๓.๒.๑.๒ พื้นห้องควรมีความลาดเอียงเพื่อการระบายน้ำได้ดี ไม่เกิดการท่วมขัง การระบายน้ำควรมีทิศทางไหลไปสู่ท่อระบาย
                   ๓.๒.๑.๓ รอยเชื่อมต่อระหว่างพื้นกับผนัง เชื่อมกันสนิท และทำมุมโค้งมน เพื่อป้องกันการสะสมของสิ่งปนเปื้อน และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย
          ๓.๒.๒ ผนัง
                   ๓.๒.๒.๑ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างผนังด้านในของห้องต่างๆ ต้องมีพื้นผิวเรียบ ทำจากวัสดุที่ไม่ดูดซับน้ำ หรือความชื้น มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิม สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่ายและทนทานต่อสารเคมี
                   ๓.๒.๒.๒ รอยเชื่อมต่อระหว่างผนังกับเพดานต้องเชื่อมกันสนิท และทำมุมโค้งมน เพื่อป้องกันการสะสมของสิ่งปนเปื้อน และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย
          ๓.๒.๓ เพดาน
                   ๓.๒.๓.๑ วัสดุที่ใช้ทำเพดานต้องมีพื้นผิวเรียบ ไม่ดูดซับน้ำ หรือกันน้ำได้ ไม่เป็นสนิม ผุกร่อน หรือแตก รอยเชื่อมต่อต่างๆ ควรปิดให้สนิท
ในกรณีที่เกิดความสกปรก สามารถทำความสะอาดได้
                   ๓.๒.๓.๒ ความสูงของเพดานในแต่ละห้องเมื่อวัดจากพื้นไม่ควรต่ำกว่า ๓ เมตร
          ๓.๒.๔ ประตู และวงกบประตู
                   ๓.๒.๔.๑ วัสดุที่ใช้ทำประตูและวงกบประตู ควรมีพื้นผิวเรียบไม่เป็นสนิมผุกร่อน กันน้ำ และล้างทำความสะอาดได้ง่าย
                   ๓.๒.๔.๒ ในกรณีที่ประตูหรือวงกบประตูมีส่วนประกอบของไม้ ควรหุ้มด้วยวัสดุที่ กันน้ำได้ และไม่เป็นสนิม
                   ๓.๒.๔.๓ ประตูที่เปิดจากบริเวณผลิตออกสู่ภายนอกอาคาร ควรเป็นชนิดที่ปิด ได้เอง และปิดได้สนิท ไม่มีช่องหรือร่องที่ขอบประตู
                   ๓.๒.๔.๔ประตูที่มีการติดตั้งช่องกระจก วัสดุที่ใช้เชื่อมต่อขอบกระจกควรปิดได้ สนิท กันน้ำ และทำความสะอาดได้ง่าย

๓.๓ บริเวณภายในโรงฆ่าสัตว์
ภายในโรงฆ่าสัตว์ ควรมีส่วนประกอบดังนี้
          ๓.๓.๑ บริเวณที่ฆ่าสัตว์และเอาเลือดออก
                   ๓.๓.๑.๑ บริเวณที่ทำการฆ่าสัตว์ต้องดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ และต้อง แยกออกจากบริเวณที่ฆ่าสัตว์ตามแต่ละชนิดของสัตว์
                   ๓.๓.๑.๒ บริเวณที่ทำการฆ่าสัตว์ต้องแยกทางเดินระหว่างพนักงานและ สัตว์ที่จะเข้าฆ่า
                   ๓.๓.๑.๓ บริเวณที่ทำให้สัตว์สลบต้องมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้ เครื่องมือที่ใช้ทำให้สัตว์สลบด้วยวิธีปืนยิงสัตว์ให้สัตว์สลบ หรือใช้กระแสไฟฟ้า
หรือแก๊ส
                   ๓.๓.๑.๔ ต้องมีแคร่หรือรอกยกสัตว์ที่สลบแล้วเพื่อทำการแทงคอเพื่อเอา เลือดออก
                   ๓.๓.๑.๕ รอกยกสัตว์ เมื่อยกแล้วส่วนล่างสุดของซากควรอยู่สูงจากพื้น ไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร
                   ๓.๓.๑.๖ แคร่หรือโต๊ะควรทำมาจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ล้างทำความสะอาดได้ง่าย และสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร
                   ๓.๓.๑.๗ มีดและอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าและกระบวนการผลิตต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้งาน
                   ๓.๓.๑.๘ จัดให้มีก๊อกน้ำล้างมือสำหรับพนักงาน ชนิดไม่ใช้มือหรือส่วนของ แขนเปิด - ปิดอย่างเพียงพอ
                   ๓.๓.๑.๙ จัดให้มีน้ำร้อนอุณหภูมิไม่น้อยกว่า ๘๒ องศาเซลเซียสสำหรับการ ล้างมีดและมีน้ำสะอาดสำหรับล้างผ้ากันเปื้อนในขณะปฏิบัติงาน
                   ๓.๓.๑.๑๐ ในกรณีที่มีการรองเลือดเพื่อนำไปบริโภค ต้องจัดให้มีภาชนะรอง เลือดที่สะอาดและดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ
                   ๓.๓.๑.๑๑ ต้องมีท่อระบายเลือด และการจัดเก็บที่เหมาะสม
          ๓.๓.๒ บริเวณลวกหนัง และขูดขน
                   ๓.๓.๒.๑ บ่อลวกหนังต้องสะอาดและสามารถควบคุมปริมาตรน้ำ และ อุณหภูมิได้
                   ๓.๓.๒.๒ น้ำล้นจากบ่อลวกหนังต้องมีท่อน้ำทิ้งต่อลงสู่ท่อระบายโดยตรง
                   ๓.๓.๒.๓ มีระบบระบายไอน้ำร้อนจากบ่อลวกหนังออกไปภายนอกอาคาร อย่างมีประสิทธิภาพ
                   ๓.๓.๒.๔ จัดให้มีแคร่หรือโต๊ะสำหรับการขูดขน
                   ๓.๓.๒.๕ มีดและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้งาน
                   ๓.๓.๒.๖ จัดให้มีห้องหรือสถานที่ในการเก็บรวบรวมขน เขา ข้อขา กีบ หนังสัตว์ และส่วนของไขมันสัตว์ที่ไม่เหมาะต่อการบริโภค
                   ๓.๓.๒.๗ จัดให้มีน้ำสะอาดสำหรับการล้างซากและมีท่อระบายไปสู่ระบบ บำบัดน้ำเสีย
          ๓.๓.๓ บริเวณเอาเครื่องในออก บริเวณเอาเครื่องในออก ควรมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
                   ๓.๓.๓.๑ จัดให้มีก๊อกน้ำล้างมือสำหรับพนักงานชนิดไม่ใช้มือหรือส่วนของ แขนเปิด - ปิด อย่างเพียงพอ
                   ๓.๓.๓.๒ จัดให้มีน้ำร้อนอุณหภูมิไม่น้อยกว่า ๘๒ องศาเซลเซียสสำหรับการ ล้างมีด และมีน้ำสะอาดสำหรับล้างผ้ากันเปื้อนในขณะปฏิบัติงาน
                   ๓.๓.๓.๓ จัดให้มีถาดหรืออุปกรณ์สำหรับแขวนหัวสัตว์ และซากสัตว์ รวม ถึงใส่เครื่องในของสัตว์ตัวเดียวกัน
                   ๓.๓.๓.๔ มีดและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้งาน
                   ๓.๓.๓.๕ จัดให้มีรางหรือระบบส่งเครื่องในที่แยกระหว่างเครื่องในแดงและ เครื่องในขาว
                   ๓.๓.๓.๖ ในกรณีที่ใช้โต๊ะสำหรับตรวจเครื่องใน ควรติดตั้งท่อน้ำทิ้ง ซึ่ง ต่อออกไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
                   ๓.๓.๓.๗ จัดให้มีราวแขวนซากโดยส่วนล่างสุดของซากต้องอยู่สูงจากพื้นไม่ น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร
                   ๓.๓.๓.๘ บริเวณเอาเครื่องในออกต้องกั้นแยกจากบริเวณแช่เย็นซากด้วย ผนังที่มีความสูงจากพื้นถึงเพดานไม่น้อยกว่า ๓ เมตร มีประตูเข้า- ออก
สำหรับพนักงาน และมีช่องเปิดให้ผ่านเฉพาะซากสัตว์เท่านั้น
                   ๓.๓.๓.๙ จัดให้มีสถานที่เก็บหรือถังที่มีกุญแจปิดล็อคสำหรับเก็บซาก และ ของเสียจากกระบวนการผลิตซึ่งไม่เหมาะต่อการบริโภค
                   ๓.๓.๓.๑๐ จัดให้มีถังหรือห้องสำหรับแช่เครื่องในส่วนที่บริโภคได้ซึ่งต้อง มีอุณหภูมิของเครื่องในวัดได้ไม่เกิน ๗ องศาเซลเซียส ตลอดเวลา
                   ๓.๓.๓.๑๑ จัดให้มีน้ำฉีดล้างทำความสะอาดซากก่อนนำไปเข้าห้องเก็บซาก หรือห้องแช่เย็นซาก ซึ่งน้ำที่ใช้ต้องสะอาด มีปริมาณและแรงดัน ที่เหมาะสม
          ๓.๓.๔ ห้องล้างทำความสะอาดเครื่องใน
                   ๓.๓.๔.๑ จัดให้มีห้องหรือสถานที่สำหรับล้างทำความสะอาดเครื่องใน โดยแบ่งเป็น ๒ ห้อง ได้แก่ ห้องล้างเครื่องในแดงและห้องล้างเครื่องในขาว
                   ๓.๓.๔.๒ จัดให้มีภาชนะและอุปกรณ์สำหรับการล้างเครื่องใน น้ำทิ้ง จากการล้างต้องต่อลงสู่ท่อซึ่งออกไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
                   ๓.๓.๔.๓ ภาชนะที่เก็บกากของเสียต้องไม่นำไปบรรจุเนื้อสัตว์หรือ เครื่องในที่บริโภคได้และมีการจัดเก็บที่ถูกสุขลักษณะ
          ๓.๓.๕ ห้องตัดแต่งเนื้อและบรรจุ
                   ๓.๓.๕.๑ ในกรณีที่โรงฆ่าสัตว์มีการตัดแต่งเนื้อและบรรจุ ห้องตัดแต่งเนื้อ ต้องมีขนาดเพียงพอต่อกำลังการผลิต และต้องกั้นแยกจาก ห้องผลิต อื่นๆ
                   ๓.๓.๕.๒ การควบคุมอุณหภูมิห้องตัดแต่งเนื้อและบรรจุ ต้องไม่เกิน ๑๘ องศาเซลเซียส ตลอดเวลา
                   ๓.๓.๕.๓ มีดและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องล้างทำความ สะอาดและฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้งาน
          ๓.๓.๖ ห้องแช่เย็น
                   ๓.๓.๖.๑ การออกแบบโครงสร้างของห้องแช่เย็นต้องทำจากวัสดุที่มี คุณสมบัติการเก็บรักษาความเย็น
                   ๓.๓.๖.๒ พื้นห้องควรแข็งแรง ทนต่อการกระทบกระแทก ไม่ดูดซับน้ำ ผนัง และเพดาน มีพื้นผิวเรียบ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ง่าย
                   ๓.๓.๖.๓ ห้องแช่เย็นต้องควบคุมอุณหภูมิซากสัตว์ เนื้อสัตว์ และเครื่อง ในสัตว์ ได้โดยมีอุณหภูมิใจกลางซากระหว่าง ๔ - ๑๐องศาเซลเซียส
                   ๓.๓.๓.๔ เครื่องทำความเย็นควรมีระบบที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำปนเปื้อน ซากสัตว์และเนื้อสัตว์
                   ๓.๓.๓.๕ ภายในห้องนี้ควรติดตั้งม่านพลาสติก หรือระบบอื่นใดเพื่อป้องกัน มิให้เกิดหยดน้ำที่ผนังและเพดานในห้องแช่เย็น
                   ๓.๓.๓.๖ ประตูห้องแช่เย็นควรมีกลไกที่เปิดประตูได้ทั้งด้านในและด้าน นอก
                   ๓.๓.๓.๗ บริเวณหน้าห้องแช่เย็นควรมีการติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์แบบที่ อ่านค่าอุณหภูมิได้ หรือเทอร์โมมิเตอร์แบบที่ใช้บันทึกอุณหภูมิได้ต่อเนื่อง
                   ๓.๓.๓.๘ จัดให้มีราวแขวนซากหรือชั้นวางซาก โดยให้ส่วนล่างสุดของซาก ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร
                   ๓.๓.๓.๙ กรณีที่ต้องเก็บซากสัตว์หรือเนื้อสัตว์ในสภาพแช่แข็งจะต้อง ควบคุมอุณหภูมิดังนี้
                        ก) ห้องแช่แข็ง (COLD STORAGE ROOM ) มีอุณหภูมิ ประมาณ -๒๐ ถึง -๒๕ องศาเซลเซียส
                        ข) ห้องทำเยือกแข็ง (FREEZING ROOM) มีอุณหภูมิ ประมาณ -๓๐ ถึง -๔๕ องศาเซลเซียส
          ๓.๓.๗ บริเวณที่ใช้รับส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์
                   ๓.๓.๗.๑ การออกแบบและโครงสร้างบริเวณรับส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ ควรคำนึงถึงวิธีการในการรับส่งสินค้า ความสูงของรถที่ใช้บรรทุก ขนาดของรถบรรทุก และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน และต้อง แยกออกจากบริเวณรับสัตว์มีชีวิต
                   ๓.๓.๗.๒ หลังคาต้องป้องกันซากสัตว์หรือเนื้อสัตว์จากฝนและแสงแดดได้
          ๓.๓.๘ ห้องล้างภาชนะและอุปกรณ์
                   ๓.๓.๘.๑ จัดให้มีห้องล้างภาชนะและอุปกรณ์ ทั้งในบริเวณที่สกปรกและ บริเวณที่สะอาด
                   ๓.๓.๘.๒ จัดให้มีชั้นวางภาชนะและอุปกรณ์ที่ล้างทำความสะอาดแล้วซึ่ง ควรทำจากโลหะที่ไม่เป็นสนิม หรือทำจากวัสดุที่อนุญาตให้ใช้และ มีความสูงจากพื้นอย่างน้อย ๓๐ เซนติเมตร
                   ๓.๓.๘.๓ จัดให้มีระบบระบายอากาศจากห้องล้างภาชนะและอุปกรณ์ ออกไปสู่ภายนอกอาคาร
                   ๓.๓.๘.๔ ระบบระบายน้ำจากห้องล้างภาชนะและอุปกรณ์ต้องไม่ไหลย้อน เข้าไปสู่ บริเวณผลิต และออกไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
          ๓.๓.๙ สถานที่เก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำความสะอาด จัดให้มีห้องหรือสถานที่เก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำความสะอาดโดย มีระบบระบายอากาศที่ดี
          ๓.๓.๑๐ ระบบการระบายอากาศ ในห้องผลิตต่างๆ ต้องมีระบบระบายอากาศ เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็น ควัน ไอน้ำร้อน ความชื้น และควบคุมอุณหภูมิห้อง และต้องระวังมิให้มีการนำอากาศจากบริเวณที่มีการปนเปื้อนสู่บริเวณที่สะอาด
          ๓.๓.๑๑ ระบบแสงสว่าง
                   ๓.๓.๑๑.๑ แสงสว่างที่ใช้ในโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์อาจจะใช้แสงสว่างจาก ธรรมชาติ หรือจากหลอดไฟ ซึ่งมีความเข้มแสงไม่น้อยกว่าสองร้อย ลักซ์ ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้การมองเห็นสีของเนื้อสัตว์เปลี่ยนไป
                   ๓.๓.๑๑.๒ ติดตั้งฝาครอบหลอดไฟ ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำฝาครอบหลอดไฟ ต้องมี ความคงทนไม่แตกหักง่าย ไม่ลดความเข้มของแสง และ สามารถถอดล้างทำความสะอาดได้
          ๓.๓.๑๒ น้ำใช้
                   ๓.๓.๑๒.๑ น้ำใช้ในโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ ต้องใส สะอาด ไม่มีกลิ่น รส มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้งาน มีแรงดันที่เหมาะสมในการฉีดล้างทำความสะอาด มีระบบในการป้องกันการปนเปื้อนจาก ฝุ่นละอองและมลภาวะต่างๆ
                   ๓.๓.๑๒.๒ น้ำใช้และน้ำแข็งต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานของกระทรวง สาธารณสุข
          ๓.๓.๑๓ สิ่งอำนวยความสะดวก
                   ๓.๓.๑๓.๑ จัดให้มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและอุปกรณ์ประกอบ แยก พนักงานชาย-หญิง อย่างเพียงพอโดยแบ่งเป็นบริเวณ ที่สกปรกและบริเวณที่สะอาด
                   ๓.๓.๑๓.๒ จัดให้มีห้องอาบน้ำและห้องสุขาแยกพนักงานชาย-หญิง อย่างเพียงพอโดยแบ่งเป็นบริเวณที่สกปรกและบริเวณที่ สะอาด
          ๓.๓.๑๔ อ่างล้างมือ
                   ๓.๓.๑๔.๑ อ่างล้างมือควรทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทานและไม่เป็นสนิม มีขนาดลึกพอเหมาะที่จะป้องกันการกระเซ็นของน้ำขณะ ล้างมือ
                   ๓.๓.๑๔.๒ อ่างล้างมือควรเป็นชนิดไม่ใช่มือหรือส่วนของแขนเปิด – ปิด บริเวณอ่างล้างมือควรมีสบู่เหลวและ น้ำยาฆ่าเชื้อ ท่อน้ำทิ้งจากอ่างล้างมือควรต่อลงสู่ท่อระบาย ซึ่งออกไปสู่ระบบบำบัด น้ำเสีย
                   ๓.๓.๑๔.๓ อ่างล้างมือต้องติดตั้งไว้ทุกห้องผลิต และห้องสุขา
          ๓.๓.๑๕ ห้องทำงานพนักงานตรวจโรคสัตว์และพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องจัดให้มีห้องทำงานสำหรับพนักงานตรวจโรคสัตว์และพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

๔. เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์
๔.๑ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต้องทำมาจากวัสดุที่ไม่เป็นสนิม พื้นผิวเรียบ ไม่มีรอยแยก หรือรอยแตก การบัดกรีเชื่อมรอยต่อต้องเรียบสนิท สามารถล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้
๔.๒ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์บางชนิด ที่ต้องใช้สารหล่อลื่น ต้องมีโครงสร้างที่ป้องกันมิให้สารหล่อลื่นต่างๆ หยดหรือปนเปื้อนกับซากสัตว์และเนื้อสัตว์
๔.๓ วัสดุที่ไม่อนุญาตในการทำเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่สัมผัสกับซากสัตว์ และเนื้อสัตว์ ได้แก่
          ๔.๓.๑ แคดเมียม ทองแดง รวมถึงโลหะที่มีส่วนผสมของแคดเมียม ทองแดง และตะกั่ว
          ๔.๓.๒ การทาสีหรือมีการเคลือบผิวหน้าวัสดุ
          ๔.๓.๓ ไม้
          ๔.๓.๔ อลูมิเนียม
          ๔.๓.๕ เครื่องปั้นดินเผา
๔.๔ เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ควรยึดติดกับพื้นผนังห้องผลิตโดยตรง ควรมีฐานตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นคง ไม่เกิดการสั่นหรือเสียงดัง และมีพื้นที่บริเวณใต้เครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือบริเวณด้านข้างซึ่งเพียงพอต่อการล้างทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ และตรวจสอบได้ทั่วถึง

๕.การจัดการและการควบคุมสุขลักษณะ
๕.๑ ต้องทำการกำจัดแมลง นก สัตว์ประเภทฟันแทะ และสัตว์มีพิษทั้งบริเวณโรงฆ่าสัตว์ และบริเวณโรงพักสัตว์อย่างสม่ำเสมอ
๕.๒ จัดให้มีสถานที่หรือบริเวณที่มีระบบการจัดเก็บและทำลายขยะมูลฝอยอย่างเหมาะสม
๕.๓ ต้องจัดให้มีพนักงานตรวจโรคสัตว์และพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำโรงฆ่าสัตว์ และให้มีการบันทึกข้อมูลการตรวจสัตว์ก่อนฆ่าและการตรวจซากสัตว์หลังฆ่า
๕.๔ ต้องมีการตรวจสุขภาพพนักงานเป็นประจำทุกปี
๕.๕ จัดให้มีบริเวณเก็บสารเคมีซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบริเวณผลิตและที่เก็บเนื้อสัตว์ โดยมีการจัดแยกชนิดหรือประเภทของสารเคมี และให้มีป้ายปิดฉลาก

๖.ระบบบำบัดน้ำเสีย
๖.๑ สถานที่ตั้งของระบบบำบัดน้ำเสียในโรงฆ่าสัตว์ควรจะตั้งอยู่ห่างจากอาคารผลิต เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ที่ปนเปื้อนซากสัตว์หรือเนื้อสัตว์
๖.๒ ต้องมีระบบบําบัดน้ำเสีย เพื่อการปรับปรุงคุณภาพของน้ำทิ้งให้มีมาตรฐานน้ำทิ้ง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม